ระบบสืบพันธุ์เพศชาย กับการทำหน้าที่ของอวัยวะต่าง ๆ

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย หมายถึง ระบบอวัยวะทั้งภายนอกและภายในของผู้ชาย ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสืบพันธุ์ โดยระบบสืบพันธุ์เพศชายประกอบไปด้วยอวัยวะหลายอย่าง เช่น องคชาต อัณฑะ ต่อมลูกหมาก ต่อมคาวเปอร์ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน หากป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศชายด้อยประสิทธิภาพลงก่อนวัยอันควร จำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพทางเพศอยู่เสมอ รวมทั้งป้องกันตัวเองและรักษาความสะอาดเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย

อวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์เพศชาย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

อวัยวะที่สร้างและเก็บตัวอสุจิ

  • ถุงอัณฑะ เป็นถุงผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องอัณฑะ แยกออกเป็น 2 ถุงห้อยอยู่นอกร่างกายบริเวณระหว่างหน้าขาด้านหลังองคชาต รวมถึงเป็นศูนย์รวมเส้นประสาทและเส้นเลือดจำนวนมาก ถุงอัณฑะจะควบคุมอุณหภูมิของอัณฑะให้เหมาะแก่การผลิตตัวอสุจิ หรือเย็นกว่าอุณหภูมิของร่างกายเล็กน้อย
  • อัณฑะ เป็นอวัยวะรูปทรงคล้ายไข่ อยู่ข้างในถุงอัณฑะข้างละ 1 ใบ มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนหลายชนิด หลัก ๆ คือฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และตัวอสุจิ โดยตัวอสุจิที่ผลิตออกมาจากอัณฑะจะยังไม่โตเต็มที่จึงไม่สามารถใช้เพื่อสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ (ยกเว้น การทำเด็กหลอดแก้ว)
  • หลอดเก็บอสุจิ เป็นท่อขดยาวเกือบ 6 เมตร ซึ่งอยู่ด้านหลังอัณฑะทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ลำเลียงอสุจิไปยังหลอดนำอสุจิซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าที่อสุจิจะเคลื่อนตัวจากจุดเริ่มต้นจนถึงปลายท่อไปสู่หลอดนำอสุจิ ระหว่างนั้น อสุจิจะค่อย ๆ เติบโตเต็มวัยพร้อมปฏิสนธิกับไข่ในร่างกายเพศหญิงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

อวัยวะที่สร้างของเหลวในการหลั่งน้ำอสุจิ

  • ต่อมสร้างน้ำอสุจิ (Seminal Vesicle) เป็นถุงยาว 2 ถุง อยู่ติดกับท่อนำอสุจิ ทำหน้าที่สร้างของเหลวที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตส เป็นแหล่งพลังงานให้ตัวอสุจิใช้ในการเคลื่อนตัว และน้ำอสุจิส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยของเหลวที่เป็นน้ำตาลฟรุกโตสจากถุงน้ำเชื้อ
  • ต่อมลูกหมาก อยู่บริเวณด้านหน้าของไส้ตรง ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีขนาดประมาณเม็ดเกาลัด ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ผลิตน้ำเมือกหรือน้ำต่อมลูกหมากหล่อเลี้ยงตัวอสุจิให้เติบโตและแข็งแรง โดยมีท่อปัสสาวะเป็นแกนกลางของต่อมลูกหมากทำหน้าที่ปล่อยน้ำเชื้อเมื่อร่างกายหลั่งของเหลวออกจากร่างกาย

อวัยวะที่ใช้หลั่งน้ำอสุจิและร่วมเพศ

  • หลอดนำอสุจิ เป็นท่อกล้ามเนื้อขนาดยาวเชื่อมจากหลอดเก็บอสุจิไปยังอุ้งเชิงกราน ทำหน้าที่ลำเลียงอสุจิที่พร้อมผสมพันธุ์แล้วไปยังท่อปัสสาวะ เพื่อรอหลั่งออกจากร่างกายเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือสำเร็จความใคร่
  • ท่อฉีดอสุจิ เป็นจุดศูนย์รวมระหว่างถุงน้ำเชื้อและหลอดนำอสุจิ มีลักษณะเป็นท่อความยาว 2 เซนติเมตร สำหรับลำเลียงน้ำอสุจิไปยังท่อปัสสาวะ
  • ท่อปัสสาวะ นอกจากมีหน้าที่ลำเลียงปัสสาวะออกจากร่างกาย ท่อปัสสาวะยังใช้ลำเลียงน้ำอสุจิออกจากร่างกายเมื่อถึงจุดสุดยอดยามมีเพศสัมพันธ์หรือสำเร็จความใคร่
  • ต่อมคาวเปอร์ (Cowper’s glands) มีขนาดประมาณเม็ดถั่ว อยู่ใกล้ท่อปัสสาวะและใต้ต่อมลูกหมาก ทำหน้าที่หลั่งสารซึ่งช่วยหล่อลื่นท่อปัสสาวะให้สามารถขับน้ำอสุจิออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • องคชาต เป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอกสุดของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มี 3 ส่วนคือ ส่วนโคนอยู่ติดกับร่างกาย ส่วนแกนกลางหรือแท่งองคชาตมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำอยู่ข้างใน มีลักษณะคล้ายทรงกระบอกโดยเฉพาะเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ แท่งองคชาตจะขยายตัวและตั้งตรง เนื่องจากเลือดจะไหลมาหล่อเลี้ยงบริเวณดังกล่าว เพื่อสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของเพศหญิง และส่วนหัวซึ่งมีรูอยู่ปลายองคชาตสำหรับหลั่งน้ำอสุจิออกมาเพื่อเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในร่างกายของผู้หญิงเพื่อสืบพันธุ์

ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

การทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่าง ๆ ดังเช่น

  • ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle-stimulating Hormone หรือ FSH) ผลิตจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นและควบคุมการผลิตตัวอสุจิ
  • ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing Hormone หรือ LH) ผลิตจากต่อมใต้สมองเช่นกัน ทำหน้าที่กระตุ้นลูกอัณฑะให้ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยผลิตอสุจิ
  • เทสโทสเตอโรน ผลิตจากอัณฑะ ทำหน้าที่กระตุ้นร่างกายให้แสดงลักษณะความเป็นชายต่าง ๆ อย่างมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง รวมถึงเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางเพศด้วย

การดูแล ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

การดูแลตัวเอง เพื่อรักษาสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศชายให้แข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์ สามารถทำได้ดังนี้

  • รักษาความสะอาด โดยการทำความสะอาดองคชาตและถุงอัณฑะอยู่เสมอ ด้วยการล้างด้วยน้ำเปล่าและสบู่ทั้งส่วนโคน ส่วนแกนกลาง และส่วนหัว และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันการหมักหมมของเชื้อโรค จนไปสู่การติดเชื้อ นอกจากนี้ ควรใส่ชั้นในที่สะอาดด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามิน เช่น ไข่ นม รวมทั้งอาหารไขมันต่ำ และควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น ไม่สูญเสียน้ำจนเกิดภาวะขาดน้ำ อีกทั้งเพื่อช่วยระบายของเสียจากไต และป้องกันการเป็นนิ่วเนื่องจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป หากเป็นนิ่วมักทำให้เวลาปัสสาวะรู้สึกแสบขัดได้
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม
  • เลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพราะสารเคมีในบุหรี่ส่งผลเสียระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวขององคชาต